ความปวด ถือเป็นปัญหาทางสุขภาพที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มของผู้รับบริการ โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อมิติทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการความปวดจึงเป็นภารกิจสำคัญของบุคลากรทางสุขภาพ โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประเมิน วินิจฉัย และให้การพยาบาลเพื่อบรรเทาความปวดอย่างถูกต้องและเหมาะสม จากบริบทของสถานการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบันที่มีแนวโน้มของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการบริการด้านการจัดการความปวดมีความซับซ้อนมากขึ้น พยาบาลจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดความปวด การประเมินลักษณะและระดับของอาการปวด ตลอดจนสามารถเลือกใช้แนวทางการบำบัดความปวดที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ ตลอดจนแนวทางการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพบริการและส่งเสริมการทำวิจัยด้านการจัดการความปวดในบริบทวิชาชีพการพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพพยาบาล โดยมุ่งเน้นเนื้อหาที่ครอบคลุมทฤษฎีที่เป็นความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence based practices) การสอนสาธิตเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การศึกษาดูงานในคลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการด้านการจัดการความปวด และการเรียนรู้จากการปฏิบัติการพยาบาลกับผู้ป่วยโดยตรง เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเชื่อมโยงความรู้กับการปฏิบัติจริง และสามารถนำไปพัฒนางานพยาบาล ในหน่วยงานตนเองได้อย่างเหมาะสม โครงการนี้จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพให้มีความพร้อมในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย และยกระดับมาตรฐานการดูแลด้านการจัดการความปวด ในระบบบริการสุขภาพของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
Schedule : 27 ตุลาคม - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568
รายละเอียด
- ภาคทฤษฎี (5 วัน) เท่านั้น อบรมบุคลากรภายใน 20 คน อบรมบุคลากรภายนอก 50 คน ค่าลงทะเบียน 7,000 บาท
- ภาคทฤษฎี (5 วัน) + ภาคปฏิบัติ การศึกษาดูงานทางคลินิก จำนวนผู้เข้าอบรมบุคลากรภายนอก 50 คน ค่าลงทะเบียน 15,000 บาท
ภาคปฏิบัติ การศึกษาดูงานทางคลินิก แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 25 คน เลือกคนละ 1 รุ่น ดังนี้
- รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 (รวม 5 วัน)
- รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 10 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 (รวม 5 วัน)