RAMA-SONO International Conference
คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่ |
|
สืบเนื่องจากความสำเร็จในการนำ ultrasound มาใช้ในงานวิสัญญีวิทยาในด้านการให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนและการสกัดกั้นระบบประสาทส่วนปลายจนเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้มีการพัฒนาการปฏิบัติงานของวิสัญญีแพทย์รวมถึงเครื่อง ultrasound ให้มีศักยภาพสูงขึ้น ด้วยการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้การใช้ ultrasound ไม่ได้จำกัดเฉพาะในงานระงับความรู้สึกทางวิสัญญีเท่านั้น แต่มีการต่อยอดนำ ultrasound มาใช้ในงานระงับปวด(Pain Medicine)ซึ่งเป็นเทคนิคที่กำลังได้รับความสนใจและยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน
การทำหัตถการระงับปวด (Procedure in Pain Medicine)โดยทั่วไปบางหัตถการอาจทำโดยใช้ลักษณะทางกายวิภาคเป็นพื้นฐานในการฉีดยา (Blind technique) จึงอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้จากความแตกต่างทางกายวิภาคในผู้ป่วยแต่ละราย หรือเกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง สำหรับหัตถการที่อยู่ลึกเช่น บริเวณเส้นประสาทในแนวกระดูกสันหลัง มีการใช้ภาพถ่ายทางรังสีวิทยา เช่น Fluoroscopy, CT, MRI เพื่อยืนยันตำแหน่งที่ต้องการทำการฉีดยารักษา เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ Ultrasound จะพบว่า การใช้ภาพถ่ายทางรังสีแม้ได้ตำแหน่งที่ชัดเจน แต่ทำให้ผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำหัตถการต้องสัมผัสกับรังสี สารทึบรังสี และจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมการใช้เครื่องถ่ายภาพทางรังสีวิทยาซึ่งมีราคาสูงมาก การใช้ Ultrasound แทนการปฏิบัติแบบเดิมจึงเป็นที่น่าสนใจเนื่องจาก คุณภาพของภาพที่ได้จากเครื่อง Ultrasound มีคุณภาพดีขึ้นใกล้เคียงกับ CT สามารถมองเห็นรายละเอียดของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ หลอดเลือด กระดูกและอวัยวะข้างเคียงตำแหน่งที่ต้องการฉีดยาได้ อีกทั้งอุปกรณ์เคลื่อนย้ายได้สะดวก ประหยัดมากกว่า และสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของเข็ม การกระจายของยาที่ฉีดได้ตลอดการทำหัตถการ ลดภาวะแทรกซ้อน เพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษา อีกทั้งทำให้การเรียนการสอนในการทำหัตถการด้านระงับปวดมีความชัดเจนและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้นการใช้ ultrasound ยังสามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการปวดได้ เช่น ในด้านของศัลยกรรมกระดูกและข้อ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ทำให้การใช้ ultrasound ใน Pain Medicine น่าจะได้รับการยอมรับในทางปฏิบัติเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การใช้ ultrasound ในงานระงับปวดนี้เป็นศาสตร์ที่กำลังพัฒนาความสำเร็จขึ้นกับความรู้ ความชำนาญของผู้ทำหัตถการ (Operator dependent) ทางคณะผู้จัดโครงการจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “RAMA-SONO International Conference” ขึ้นเพื่อให้แพทย์ผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลผุ้ป่วยที่มีความปวด หรือแพทย์ผู้ใช้ ultrasound ในการวินิจฉัยสาเหตุความปวด มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับผู้เข้าประชุมในสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการพัฒนานำ Ultrasound มาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ความคิดเห็น: หมายเหตุ: HTML จะไม่แสดงผล!
ให้คะแนน: แย่ ดี
พิมพ์รหัสป้องกันสแปม: